วิธีลดภาวะโลกร้อน


ภาวะโลกร้อน กับ ขยะ


การที่เราทิ้งขยะทุกประเภทรวมกันโดยไม่แยกนั้น ทำให้ขยะที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (Reuse) และขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ (Recycle) ถูกทิ้งรวมไปกับขยะเปียกทั้งหลาย และอาจจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก และที่อันตรายมากก็คือขยะที่เป็นสารพิษ พวกบรรจุภัณฑ์สารเคมี กระป๋องยาฉีดกันยุง พวกหลอดไฟซึ่งมีสารเคมีฉาบไว้ ถ่านไฟฉาย เหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากๆ ถ้าเราเอาทิ้งไปรวมกับขยะอื่นๆโดยที่ไม่แยก สารเคมีก็จะไหลลงสู่พื้นดิน ถ้าถูกเผาก็จะเป็นก๊าซพิษลอยขึ้นไปในอากาศ หรือถ้าถูกฝั่ง กระบวนการย่อยสลายก็จะทำให้เกิดก๊าซพิษลอยขึ้นไปในอากาศ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อนด้วย
ในบ้านเรายังไม่มีกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการแยกขยะ แต่ถ้าเราทุกคนช่วยกันทำก็คงจะดีต่อสิ่งแวดล้อม เวลาจะทิ้งก็ให้เราแยกระหว่าง ขยะเปียก แก้ว พลาสติก และขยะที่เป็นพิษ เวลาเขาเก็บไปจะได้สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี
บรรจุภัณฑ์ประเภทแก้วนอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะว่าสามารถนำมารีไซเคิลได้ นอกจากนั้นยังดีต่อสุขภาพของเราอีกด้วย เพราะขวดแก้วจะไม่ทำปฏิกิริยาต่อสิ่งที่บรรจุอยู่ในนั้น ซึ่งหมายความว่ามันดีต่อสุขภาพของเรา และถือว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ของยุคภาวะโลกร้อนเลยทีเดียว
เรามาดูกันว่าอะไรย่อยสลายยากที่สุด
• โฟม 500 – 1,000 ปี
• ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 500 ปี
• ถุงพลาสติก 100 – 450 ปี
• อะลูมิเนียม 80 – 100 ปี
• เครื่องหนัง 25 – 40 ปี
• ก้นบุหรี่ 12 ปี
• ถ้วยกระดาษเคลือบ 5 ปี
• เปลือกส้ม 6 เดือน
• เศษกระดาษ 2 – 5 เดือน
การที่เรานำของเก่ากลับมาใช้อีก และการรีไซเคิลนั้น สามารถลดการใช้พลังงานไปได้มาก เพราะฉะนั้นการแยกขยะให้เป็นประเภทและทิ้งให้ถูกวิธีนั้น ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะสามารถลดภาวะโลกร้อนได้ครับ

ถุงผ้า กับ ภาวะโลกร้อน


อย่างที่เราทราบกันดีว่าถุงพลาสติกนั้นทำให้เกิดขยะขึ้นบนโลกของเรามากมาย แถมยังใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปีอีกด้วย ปัจจุบันเฉพาะในกรุงเทพมหานครมีขยะที่เป็นถุงพลาสติกถึง 1,800 ตันต่อวันเลยทีเดียว โอ้โห ! อะไรจะมากมายขนาดนั้น ไม่ต้องบอกก็รู้เลยว่าถุงพลาสติกนั้นกำลังมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากมายบนโลกของเรา เพราะฉะนั้นจึงมีคนที่มองเห็นถึงปัญหานี้ และได้ผลิตถุงผ้าออกมาให้พวกเราได้ใช้กัน เพื่อที่จะรณรงค์ในการลดใช้ถุงพลาสติกและก็จะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนลงได้
ปัจจุบันได้มีถุงผ้าหลากหลายรูปแบบออกมาวางขายกันให้เราได้เลือกซื้อเยอะไปหมด หลังจากที่ถุง I’m Not a Plastic Bag ของดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ Anya Shindmarch ได้ถูกออกแบบและออกมาวางขายจนโด่งดังจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ก็มีผู้ที่หันมาให้ความสนใจ และผลิตถุงผ้าออกมาวางขายกันอย่างมากมาย
ตอนนี้องค์กรต่างๆของบ้านเราก็เริ่มหันมาผลิตถุงผ้าของตัวเองออกมา และก็มีการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้ากันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น บางคนอาจะมีคำถามในใจขึ้นว่า แล้วเราจะใช้ถุงผ้าตอนไหน ? ใช้ทำอะไร ? ผมก็พอจะตอบแบบตรงๆได้ว่า ก็ให้ใช้แทนถุงพลาสติกที่ท่านใช้ในแต่ละวันไงครับ ผมจะลองยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพนะครับ
  • เข้ามินิมาร์ท ก็บอกพนักงานว่าไม่ต้องใส่ถุง และก็เก็บใส่ถุงผ้าเราแทน
  • เข้าไปซื้อของในโลตัส คาร์ฟู ก็ใช้ได้นะ อายทำไมถุงเราสวย
  • ซื้อกับข้าวแถวบ้าน ก็ใส่ถุงผ้าแทน ลดถุงพลาสติกไปได้หลายถุงเลย
ถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน และหันมาใช้ถุงผ้ากันมากๆ ต่อไปเราก็จะเห็นคนหันมาใช้ถุงผ้าตามกันมากขึ้น เพราะบางท่านอาจจะไม่ค่อยกล้าใช้ หรือมองว่ามันลำบากมากขึ้น แต่ยังไงก็ขอให้ช่วยกันเถอะครับ เพื่อที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
ยังไงก็ตามแต่หากเรามองถุงผ้าเป็นสินค้าแฟชั่น และซื้อมาไว้มากมายเกินความจำเป็น มันก็จะไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น กลับจะทำให้เกิดขยะบนโลกมากขึ้น ทั้งนี้ก็ขอให้มองจุดประสงค์ที่แท้จริงที่ทำให้ถุงผ้าเกิดขึ้นมา อย่าตามกระแสแฟชั่นมากเกินไป เพราะมันก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นนั่นเอง

ลดภาวะโลกร้อนกับกระดาษทิชชู



วันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีลดภาวะโลกร้อนโดยการลดใช้ทิชชูกันนะครับ เมื่อ 2-3 วันที่แล้ว ผมได้เห็นโฆษณาตัวหนึ่งในทีวี พอดูจบแล้วรู้สึกสลดใจมาก มันเป็นโฆษณากระดาษทิชชูยี่ห้อหนึ่ง มีคนมาทำโน่นทำนี่หกเลอะเทอะ แล้วก็ทำอะไรอีกผมก็จำไม่ค่อยได้เพราะดูไปแค่รอบเดียว ทุกครั้งที่เค้าทำอะไรหกก็จะมีทิชชูยื่นเข้ามาให้ใช้อย่างเมามัน ทั้งๆที่เค้ารณรงค์ให้ช่วยกันลดภาวะโลกร้อนแต่โฆษณานี้กลับแหวกแนวผ่ายุคลดภาวะโลกร้อนออกมาได้ ทันทีที่ผมดูโฆษณาจบก็คิดได้ทันทีว่าบทความต่อไปต้องเกี่ยวกับการลดใช้ทิชชูอย่างแน่นอน ถ้าใครมีโอกาสได้ดูโฆษณาที่ผมพูดถึงก็อย่าไปทำตามแบบเค้าเนอะ เพราะว่ากระดาษทิชชูนั้นเราก็รู้ๆกันดีอยู่ว่ามันทำมาจากต้นไม้ ทั้งๆที่ตัวก่อมลพิษมีมากขึ้นทุกวันแต่ตัวฟอกอากาศอย่างต้นไม้กลับกลายมาเป็นกระดาษทิชชูให้เราใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงใบปลิวที่แจกกันตามห้างตามสะพานลอย ที่เรารับมาบางทียังไม่ทันอ่านเลยแล้วก็ต้องทิ้งไป และอีกหลายๆอย่างเลยที่ทำมาจากกระดาษ
เวลาที่เราจะดึงทิชชูมาใช้ก็ให้พึงระลึกไว้เสมอว่ามันคือต้นไม้ที่ช่วยให้เราดำรงชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีทิชชูเราไม่ตายแต่ว่าถ้าไม่มีต้นไม้ละก็คงไม่เหลือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามไม่ให้ใช้ แต่เวลาใช้ก็อยากให้ใช้ให้คุ้มค่า เช่น เวลาทานอาหารแล้วจะใช้เช็ดปาก ก็ใช้แผ่นนึงให้คุ้มหน่อย พับไปพับมาให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่ดึงเอาๆ ยิ่งทุกวันนี้กระดาษทิชชูถูกออกแบบให้ดึงง่ายอยู่แล้วด้วย โดยเฉพาะที่ร้านอาหารอย่าคิดว่ามันเป็นของฟรีแล้วก็ดึงใหญ่เลย สาวกันอย่างเมามัน พึงระลึกไว้เสมอว่ามันคือต้นไม้ๆๆๆ ส่วนถ้าเวลาอยู่บ้าน อันไหนที่ใช้ผ้าแทนได้ก็ให้ใช้ผ้าเถอะครับ อย่างเวลาทำน้ำหกถ้าใช้ทิชชูเช็ดให้แห้งหมดก็คงแย่ เพราะฉะนั้นให้เราใช้เวลาจำเป็นเท่านั้นนะครับ เพื่อที่จะได้ช่วยลดภาวะโลกร้อน จริงๆแล้วกระดาษทิชชูก็ไม่ได้เป็นของที่เราจะต้องใช้กันมากมายอยู่แล้ว
สุดท้ายนี้ผมมีเกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับกระดาษทิชชูมาฝากครับ (มาจากหนังสือเพราะว่าโลกร้อนมันจี๊ด) ผู้ผลิตทิชชูออกจำหน่ายรายแรก คือ นายโจเซฟ กาเย็ตตี้ นักธุรกิจชาวอเมริกัน วางขายในปี ค.ศ. 1857 (150 ปีที่แล้ว) แต่ปรากฏว่าเจ๊งครับ เพราะว่าคนสมัยนั้นเค้าคิดว่าทำไมต้องใช้กระดาษเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง (แต่คนสมัยนี้ใช้เอาๆ) แต่หลังจากนั้น 20 ปี กระดาษทิชชูตราสก๊อตปรับปรุงใหม่นุ่มกว่าเดิมออกมาวางตลาด คนจึงเริ่มนิยมใช้จนถึงทุกวันนี้.. เพื่อนๆอย่าลืมนะครับ ทุกครั้งที่จะใช้กระดาษทิชชูให้ระลึกไว้ว่ามันคือต้นไม้ที่ให้ชีวิตเรา ถ้าท่านต้องการมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนแล้วล่ะก็ เพียงใช้ทิชชูให้คุ้มค่าก็ช่วยโลกได้แล้วล่ะครับ